ในการกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยให้เป็น ฐานผลิตและส่งออกสู่ตลาดโลกนั้น ได้มีการกำหนด Product Champion ของไทย ทั้งนี้ประเภทรถยนต์ที่มีศักยภาพที่สุดในเวลานี้คือ รถยนต์บรรทุกปิคอัพ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเภทรถยนต์ที่มีการผลิตและจำหน่ายมากที่สุดในประเทศไทย คือประมาณ 60% ของการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมด ทั้งนี้ในปี 2544 ในจำนวนยอดขายรถยนต์ในไทย 297,052 คัน เป็นรถยนต์ปิคอัพขนาด 1 ตัน จำนวน 168,639 คัน ในขณะเดียวกันก็มีการส่งออกรถยนต์ปิคอัพประมาณ 130,000 คัน จากจำนวนรถยนต์ส่งออกทั้งหมด175,299 คัน นอกจากนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ประเทศไทยมีการผลิตรถยนต์ปิคอัพจำนวน 94,946 คัน คิดเป็นสัดส่วน 64% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 148,346 คัน และมียอดขายรถยนต์ปิคอัพ 70,892 คัน หรือ 60.8% จากยอดขายทั้งหมด 116,626 คัน
ตลาดรถยนต์ปิคอัพในไทยโตขึ้นมากโดยมีขนาดใหญ่เป็นที่สองของโลกรองจากสหรัฐ ยังผลให้บริษัทรถยนต์ต่างประเทศได้เข้ามาลงทุนหรือขยายการผลิตรถยนต์ปิคอัพมากขึ้นตามลำดับ จนหลายบริษัทได้ย้ายการผลิตหรือมีแผนการที่จะย้ายฐานการผลิตรถยนต์ปิคอัพในต่างประเทศมาผลิตในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อการส่งออกด้วย ไม่ว่าจะเป็นมิตซูบิชิ หรือฟอร์ด-มาสด้า ยิ่งไปกว่านั้น จากการปรับสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอเมื่อต้นปี ที่อนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนที่มีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่กำหนดเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในเขต 1 ได้นั้น ก็ทำให้บริษัทรถยนต์ต่างประเทศสนใจจะย้ายฐานการผลิตมายังไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า อีซูซุ ฯลฯ และเนื่องจากปัจจุบัน การผลิตรถยนต์ปิคอัพในไทยมีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศในสัดส่วนที่สูงมากเกือบ 100% ของมูลค่ารถยนต์ รถยนต์ปิคอัพจึงเปรียบเสมือนผลผลิตของประเทศไทย แม้จะยังใช้ยี่ห้อต่างชาติ ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า ทำไมประเทศไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อการส่งออกด้วยการเลือกรถยนต์ปิคอัพให้เป็น Product Champion สอดคล้องกับการที่บริษัทรถยนต์ชั้นนำของโลกได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ปิคอัพเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก